Last updated: 30 ก.ย. 2561 | 1671 จำนวนผู้เข้าชม |
#มทรอีสานเจ๋งสุด #เทคโนตะโกราย มองการณ์ไกล จับ 3 คลัสเตอร์หลักหนุนเศรษฐกิจยุค 4.0 อันได้แก่ โลจิสติกส์ เกษตร อาหาร และสุขภาพ ผลิตช่างราง การบิน ปั้นสมาร์ทฟาร์มฯ โดยในส่วนของคลัสเตอร์โลจิสติกส์และท่องเที่ยวจะเน้นผลิตและพัฒนาคนด้านระบบรางและด้านการบินเพื่อรองรับระบบคมนาคมของประเทศที่จะเชื่อมไปยังภูมิภาคอินโดจีนและประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะระบบรถไฟความเร็วสูง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในจีนจัดตั้งวิทยาลัยระบบรางเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศจีน รุ่นแรกฝึกจบกลับมาแล้วประมาณ 80 คน โดยจีนได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาอาจารย์และเครื่องไม้เครื่องมือการเรียนการสอนอีกด้วย ... สมกับปณิธานมหาวิทยาลัยที่ว่า #สร้างคนสู่งานเชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ในวันที่ 13 พ.ย.2560 ได้มีการทำพิธีเปิดป้าย #วิทยาลัยระบบรางไทยจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (RMUTI) กับ Liuzho Railway Vocational Technical College (LRVTC) โดยมี ผศ.ดร. วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน), Mr.Jiao Yaoguang รองผู้ว่าการเมืองหลิ่วโจ, Mr.Zhou Qun (President of Guangxi Rail Transit Engineering Vocational Education Group) อดีตอธิการบดี LRVTC, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศบาลนครนครราชสีมา ร่วมเป็นสักขีพยานและให้การสนับสนุน
โดยวิทยาลัยระบบราง ไทย-จีน แห่ง มทร.อีสาน จะเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรระบบรางให้กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ไม่ตำ่กว่าปีละ 2,000 คน โดยมี 9 มทร และกลุ่มสถาบันอาชีวะร่วมมือกันผลิต
ทั้งนี้ ผศ.ดร.วิโรจน์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า หลักสูตรด้านระบบรางจะเปิดสอนในปี 2562 ในระดับ ปวส.จากนั้นจะขยายไปสู่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทางด้านวิศวะเกี่ยวกับระบบรางต่อไปในอนาคต โดยจะรับนักศึกษาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเรียนและต่อยอดด้วย ทั้งหมดใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนด้านการบินขณะนี้ได้จัดตั้งสถาบันอุตสาหกรรมการบินเรียบร้อยแล้ว โดยเฟสแรกจะเปิดสอนหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน และหลักสูตรการจัดการสนามบิน โดยหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานจะมีทั้งหลักสูตรฝึกอบรม 3 เดือน 6 เดือน สำหรับช่างที่ทำงานอยู่แล้วและต้องการมาต่อยอดเพื่อให้ได้ใบรับรองของเอียซ่า หลักสูตร ปวส. และปริญญาตรีที่จะต่อยอดจากปวส.โดยจะเริ่มเปิดสอนในปี 2562 ทั้งหมดจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรฐานองค์การบินของสหภาพยุโรป หรือ EASA ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่ยอมรับในระดับสากล จบแล้วสามารถทำงานได้ทั่วโลก ขณะนี้ได้ส่งอาจารย์ไปอบรมที่ประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์กับสถาบันและสายการบินที่อยู่ภายใต้มาตรฐานเอียซ่า โดยในส่วนของการฝึกอบรมตั้งเป้าผลิตให้ได้ประมาณ 100 คน ปวส.ไม่เกินปีละ 200 คน ปริญญาตรีไม่เกิน 100 คน ผศ.ดร. วิโรจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวต่อว่า อีกสองคลัสเตอร์ที่อยูในแผนการผลิตและพัฒนกำลังคนตามมติสภาฯ คือ เทคโนโลยีการเกษตรและอาหารและสุขภาพ โดยในส่วนของเทคโนโลยีการเกษตรจะมุ่งเน้นนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีไปพัฒนาการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้จังหวัดร้อยเอ็ดได้มอบที่ดิน 1,700 ไร่ พร้อมงบประมาณสนับสนุนเบื้องต้นจากรัฐบาล จำนวน 1,200 ล้านบาท เพื่อสร้างวิทยาเขตแห่งที่สามคือ วิทยาเขตร้อยเอ็ด ที่อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปพัฒนการเกษตรในพื้นที่ในรูปของสมาร์ทฟาร์ม โดยจะพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจะมี 2 คณะเปิดใหม่คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์การเกษตร และคณะนวัตกรรมการเกษตร เพื่อผลิตนักศึกษาด้านเทคโนโลยีการเกษตรและขับเคลื่องเรื่องของสมาร์ทฟาร์มเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่แก่เกษตรกรในพื้นที่ ส่วนด้านอาหารและสุขภาพจะมุ่งเน้นอาหารในบริบทของสมุนไพรหรืออาหารเพื่อสุขภาพรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ในเชิงสุขภาพโดยให้โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นที่ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์แผนไทยรวบรวมและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในเชิงนวัตกรรมให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางยาสำหรับผู้ป่วยในขั้นปฐมภูมิ ทั้งหมดเป็นการพัฒนเพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวในที่สุด
--------------------------------
Source : FB - Viroj Limkaisang // มติชนรายวัน