รับมือดินถล่ม ภูเขาทรุดพังทลาย อย่างไรให้ปลอดภัย โดย ศ. ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร

Last updated: 30 ก.ย. 2561  |  1270 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รับมือดินถล่ม ภูเขาทรุดพังทลาย อย่างไรให้ปลอดภัย โดย ศ. ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร

ศ. ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร ให้ข้อมูล..

เหตุการณ์ดินโคลนถล่มเกิดขึ้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะยิ่งหน้าฝน และในบางพื้นที่ เช่น ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ จะมีแนวภูเขาอยู่มาก



ถ้าเข้าไปปลูกบ้านที่อยู่อาศัย หรือ ไปก่อสร้างบ้าน ตรงพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีภูเขาติดกับที่ราบ ก็เป็นไปได้ว่า ภูเขาที่เป็นดิน หิน ทราย ถ้าเวลาผ่านไปนาน ๆ ตามกาลเวลา ย่อมผุพัง ยิ่งเมื่อเจอน้ำฝนในปริมาณมาก เมื่อดินเหล่านั้นจะอุ้มน้ำไม่ไหว ไหลตกลงมาตามทางราบ ปัญหาจะเกิดขึ้น ถ้ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่ตรงบริเวณนั้น ก็จะได้รับผลกระทบจากดินโคลน เศษหินดินทราย รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า ก็จะทำให้เกิดเป็นทะเลโคลน ขึ้นได้ง่าย

ล่าสุดเพิ่งเกิดเหตุที่บ่อเกลือ จ.น่าน ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา และเคยเกิดเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ เมื่อปี 2531 จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิต 230 คน ถือเป็นภัยอันตรายที่น่ากลัวมาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม และดินถล่ม ในศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบที่บ้านแม่ระอุง จ.แม่ฮ่องสอน

ประเด็นคือ เรื่องของที่ตั้งซึ่งอยู่ติดกับภูเขา ถ้าภูเขาที่มีความลาดชัน จะมีโอกาสที่เศษหิน เศษปูน เศษทรายต่าง ๆ สามารถที่จะไหลลงมาได้ง่าย แต่มักจะเกิดขึ้นในกรณีต่าง ๆ ที่มีเงื่อนไขในการเกิด เช่น กรณีที่1 ปริมาณน้ำฝนมันตกหนักมาก ตกหลายวันต่อเนื่องกัน กรณีที่สอง ภูเขาในบริเวณนั้นที่มีความลาดชันสูง คือ 30 องศาขึ้นไป ซึ่งตรงบริเวณนี้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก หากถ้ามีน้ำฝนในปริมาณมาก เช่น เกิน 100 มิลลิเมตรต่อวันขึ้นไป ดูได้จากข้อมูลน้ำฝนได้จากรายงานของทางกรมอุตุนิยมวิทยา

“ต้องเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า จริง ๆ แล้ว เป็นสิ่งที่เราสามารถแจ้งเตือนภัยได้ ภัยพิบัติหลายๆ อย่าง เช่น อัคคีภัย แจ้งเตือนเหตุได้ ดินโคลนถล่มก็แจ้งเตือนเหตุได้ โดยดูจากปริมาณน้ำฝนจากเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ซึ่งราคาไม่แพง สามารถนำเครื่องวัดน้ำฝนไปติดตั้งตามจุดต่าง ๆ บริเวณที่ติดตั้งที่ดีที่สุด ก็คือบริเวณที่เป็นภูเขา ซึ่งทางการต้องติดตั้งให้ และต้องมีระบบการส่งสัญญาณ มีการจัดระบบเวรเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย” ศ.ดร. อมร กล่าว

สังเกตปริมาณน้ำฝน สิ่งรอบตัว

การดูปริมาณน้ำฝนจากเครื่องวัดน้ำฝน ก็เป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งแล้ว ประชาชน ชาวบ้าน ต้องร่วมมือช่วยกันสังเกตสิ่งรอบข้างด้วย เช่น ถ้าพบว่า ทำไมลำน้ำ อยู่ ๆ เกิดมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงว่า มีสัญญาณเตือนภัยแล้วว่าน้ำกำลังมา หรือว่าทำไมน้ำซึ่งปกติสีดูไม่ขุ่นมาก ใสๆ แต่ปรากฏว่า กลายเป็นสีแดง สีขุ่น แสดงว่า น้ำที่ไหลอยู่นั้น อาจพาโคลนมาด้วยก็ได้ หรือแม้กระทั่งเกิดเสียงดัง อาจจะมีเศษซาก สิ่งปรักหักพังต่าง ๆ ซึ่งกำลังเคลื่อนที่มา เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อม ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันดู และรีบแจ้งเตือนภัยให้ทุกคนในหมู่บ้านได้รับทราบ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ราบเชิงเขาเป็นพื้นที่เสี่ยง ไม่ควรไปอยู่ ที่ใดก็ตามที่เราอยู่ติดภูเขาก็ควรระมัดระวัง มีความเสี่ยงมากอยู่แล้ว และดินต่าง ๆ อาจไถลลงมาได้ ดินก็เกิดจากหินที่เป็นภูเขา แต่ว่าผุผัง ไม่แข็งแรงแล้ว แต่ที่ดินตั้งอยู่ได้ ถ้าดินนั้นแห้งอยู่ แต่ถ้ามีน้ำมาก น้ำก็ไปเพิ่มน้ำหนัก ก็ไหลลงมาทั้งก้อนได้ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมาย

ดังนั้น ในบางครั้งที่ไปก่อสร้างบ้าน ซึ่งผนังบ้านอยู่ติดภูเขา ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ดินไหลมา ทำให้กำแพงบ้านล้ม ไปทับคนที่นอนอยู่เสียชีวิต ซึ่งมีให้เห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นแล้ว ในการปลูกสร้างบ้าน ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ ควรเว้นระยะ อย่าไปใกล้ชิดกับที่ลาดมากนัก เว้นระยะห่างออกมาให้มาก พอสมควร

ถ้าดินพังทลายมาจริง ๆ โครงสร้างของบ้านชาวบ้านรับไม่ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่มักสร้างด้วยไม้ ปูน โครงสร้างมีขนาดไม่ใหญ่มาก บางทีก็ซื้อเป็นเสาสำเร็จรูปมาก่อสร้าง ความแข็งแรงไม่มีทางที่จะสามารถต้านทานต่อแรงที่เกิดจากน้ำหนักของดินที่ไหลลงมา

“วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือว่า อย่าไปอยู่ใกล้มัน วิธีที่สอง ถ้าจำเป็นต้องอยู่จริงๆ ต้องเรียนรู้วิธีที่อยู่ร่วมกับมัน คือ ต้องรู้ว่า สัญญาณเตือนภัยที่กำลังจะเกิดเหตุ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป ลำน้ำ น้ำไหลแรงผิดปกติ ต้องรู้ตัวแล้ว ต้องอพยพ และที่สำคัญ ต้องมีการซักซ้อมว่าเราควรอพยพไปที่ไหน และมีการฝึกซ้อมด้วย ถ้าเราทำทั้ง 3 ประการนี้ได้คิดว่าอย่างน้อยก็ให้เรารักษาชีวิตของเราได้” เลขาธิการ สภาวิศวกรกล่าว

เมื่อการผุพังเกิดขึ้นตามกาลเวลา ปัจจุบันน้ำฝนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวันนี้ สิ่งใดที่ไม่เคยเกิดก็ไม่ใช่ว่าวันข้างหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ บริเวณพื้นที่ที่เราจะไปปลูกบ้านที่อยู่อาศัย ควรจะสอบถามดูว่า ที่ตรงนี้เมื่อก่อนเคยมีดินถล่มหรือไม่ ถ้าเคยมีดินถล่ม ก็แสดงว่ามีโอกาสที่จะถล่มได้อีก

อีกปัจจัยคือ ดินถล่มนอกจากเกิดปัจจัยตามธรรมชาติแล้ว เช่น น้ำฝนมากแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยที่มนุษย์ทำเอง ภูเขามีความลาดชันในระดับนึง แต่บางครั้งเกิดจากการที่ชาวบ้านต้องการไปตัดถนน ตัดลาดภูเขา ไปทำเกษตรกรรม ไปทำการเพาะปลูก ไปปรับพื้นที่ดิน ทำให้เป็นการเพิ่มความลาดชันมากขึ้นไปอีก และบางทียังมีการเอาดินไปถมข้างบนอีก ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักในการกดทับลงมา จึงเป็นปัจจัยที่มนุษย์ทำ

เพราะฉะนั้นหลายๆ ครั้ง เราจึงพบว่า การที่โคลนถล่ม การที่ดินสไลด์ลงมา เป็นสิ่งที่เกิดจากมนุษย์เราทำเองทั้งสิ้น ยังรวมถึงเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วย เพราะปกติภูเขามีต้นไม้ ต้นไม้มีราก รากยึดดินเอาไว้ ถึงแม้ว่ามีน้ำเยอะ ก็ไม่ปล่อยให้ดินไหลไปง่ายๆ แต่พอเราไปตัดไม้ทำลายป่าไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวยึดตัวดินเอาไว้ เมื่อมันเจอน้ำ เจอน้ำหนักน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดสไลด์ลงไป ปัจจัยที่เกิดจากธรรมชาติจริง ๆ แล้วไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่ดินถล่มต้นเหตุเกิดจากมนุษย์ที่เป็นคนทำให้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมากกว่า

สำหรับภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะมีภูเขาที่มีความลาดชัน แต่ถ้าไปดูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบ ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า

ส่วนพื้นที่ตรงไหนเสี่ยงมากกว่ากัน ต้องดูแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่ม มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หมู่บ้านเราอยู่ตรงจุดไหนในแผนที่นี้ จะบอกสี เป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว อันตรายที่สุดคือสีแดง สีแดงถ้าเจอน้ำฝน 100 มิลลิเมตรต่อวัน มีโอกาสดินถล่ม ถ้าเป็นสีเหลือง ต้อง 200 มิลลิเมตรต่อวันขึ้นไป

การดูจากสภาพทางธรณีวิทยาว่าดินหินต่าง ๆ บริเวณไหนที่มีโอกาสที่เกิดการผุพัง หรือร่วงไถลลงมาได้มากกว่ากัน สามารถวิเคราะห์ได้ แผนที่ตรงนี้เราสามารถขอข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีได้

หน่วยงานราชการไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการไปจัดตั้งระบบเตือนภัย วัดปริมาณน้ำฝน มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในเรื่องของดินถล่ม เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทางราชการก็ได้ดำเนินการไปบางส่วนที่จะไปช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

พลังวิศวกรให้ความช่วยเหลือ

จากที่สภาวิศวกรในฐานะสภาวิชาชีพ ได้ร่วมมือองค์กรที่เกี่ยวข้องอีก 18 องค์กร มีการไฟฟ้า 3 แห่ง, ปตท. และอีกหลายหน่วยงาน เนื่องจากเห็นว่าพลังของวิศวกร และพลังของสถาปนิก เป็นพลังที่มีความสำคัญ ซึ่งวิศวกรทราบกันดีว่าเรื่องของการกู้ภัยเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่ในฐานะที่เราเป็นประชาชนและเรามีวิชาชีพ ในส่วนของเรามีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา เป็น Technical Support ให้ความช่วยเหลือในด้านขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านวิศวกรรมและทางสถาปัตยกรรม ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน

“ที่ผ่านมาสภาวิศวกรได้มีการรณรงค์ช่วยประชาชนตอนเกิดน้ำท่วม ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น น้ำท่วมแล้ว ส่วนใหญ่คนตายไม่ได้ตายเพราะจมน้ำ ตายเพราะไฟฟ้าช็อต เพราะฉะนั้นก่อนที่เขาจะเข้าบ้าน วิศวกรอาสา สถาปนิกอาสา ไปตรวจสอบบ้านให้เขาว่า มีความปลอดภัยหรือยัง จะเข้าบ้านได้ไหม โครงสร้างที่เกิดขึ้นมีความเสียหายหรือเปล่า และก็ส่งสัญญาณว่าถ้าทุกอย่างปลอดภัย การไฟฟ้าจ่ายไฟได้ จะเป็นส่วนช่วยชีวิตให้แก่ประชาชนได้ เมื่อประชาชนไม่มีความรู้เพียงพอ ตรงส่วนนี้ก็เป็นหน้าที่ของเรา และเราก็ทำงานให้ฟรี” เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าว

หลังน้ำลดโครงสร้างฐานรากเสียหาย บ้านพังถล่มได้

เมื่อน้ำลดแล้วโอกาสที่โครงสร้างจะได้รับความเสียหาย อย่างเช่น บ้านของชาวบ้านที่เป็นบ้านหลังเล็ก เวลาน้ำมาพาเอาทรายที่เป็นฐานรากไปด้วยกับน้ำ ทำให้ฐานรากอาจจะเกิดการทรุดตัว ก็อาจจะเกิดรอยแตกร้าว บางบ้านที่เข้าไปดู พบว่าฐานรากลอยขึ้นมามาก เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะพอฐานรากลอยแล้ว โอกาสที่จะเกิดรอยร้าวที่จะเกิดขึ้น และนำไปสู่การถล่มเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าไปให้คำแนะนำกับเขา และหาโครงสร้างไปค้ำยันชั่วคราวก่อน ไม่ให้มันถล่มลงมา ตลอดจนถึงขั้นแนะนำวิธีการซ่อมให้กับชาวบ้านด้วย

ที่ผ่านมามีการทำร่วมกันในนามสภาวิศวกรกับสภาสถาปนิกมานานแล้ว หลังจากที่เราทำพบว่าหน่วยงานอื่น ก็ทำภารกิจคล้ายๆ กัน ทำไมเราไม่ร่วมกันทำงานเลย จึงกลายเป็น 18 องค์กรรวมตัวด้วยกัน ซึ่งก็มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราให้ความอนุเคราะห์ในการเป็นที่ปรึกษาให้กับเราด้วย ก็หลายท่าน

พื้นที่แอ่งกระทะ หุบเขา จุดที่เสี่ยงที่สุด

แต่ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตเมือง จะมีความเสี่ยง เนื่องจากแผ่นดินทรุดตัว ที่เกิดจากการสูบน้ำบาดาลกันเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำใต้ดินหายไป แผ่นดินจึงยุบตัวลง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น อย่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ราบ จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมได้ง่าย และมีอีกสาเหตุปัจจัยหนึ่งคือ น้ำท่วมที่มาจากน้ำทะเลสูงขึ้น ต่างจากลักษณะของความเสียหายที่เกิดจากโคลนถล่มจึงอยู่ในพื้นที่ที่มีความลาดชัน ตรงเชิงภูเขา ซึ่งจุดที่เป็นอันตรายมากๆ คือพื้นที่เป็นหุบเขา ที่มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน เป็นแอ่งกระทะ ที่นี้ ยิ่งเป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะกลายเป็นที่รวมของตะกอน หรือแอ่งตะกอน ของเศษดิน เศษหิน ไหลลงมากองรวมกันอยู่ข้างล่าง

อยากจะฝากบอกพี่น้องประชาชนทุกคนว่า เรื่องทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เราสามารถแจ้งเตือนภัยได้ และทางกรมโยธาธิการ และผังเมือง กำลังออกกฎหมายขึ้นมาบังคับว่า ในเรื่องของการก่อสร้างอาคารที่อยู่ติดกับเชิงเขา จะต้องมีระยะร่น ระยะห่างจากเชิงเขาอยู่พอสมควร ซึ่งกำลังอยู่ร่างกฎกระทรวงขึ้นมา จากที่บ้านเรามีกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับเรื่องอาคารหลายฉบับ ที่บางฉบับก็บอกว่าให้เว้นห่างจากถนนสาธารณะ บางฉบับก็ให้เว้นห่างจากแม่น้ำ ลำธารสาธารณะ ฉบับใหม่นี้ จะบอกให้เว้นระยะห่างจากตัวภูเขาหรือที่ลาดชัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก คือ ถ้าเราเว้นระยะห่างทำกันเอง บางทีประชาชนไม่รู้ คิดว่าภูเขาแข็งแรงมั่นคง แต่จริง ๆ แล้วอะไรก็สามารถตกลงมาใส่หลังคาบ้านเราได้ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงอยู่

ท้ายนี้ขอแนะนำพี่น้องประชาชนกรุณาดูว่า ในแผนที่เสี่ยงภัยบ้านของเราอยู่ตรงไหน เป็นพื้นที่สีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว และถ้าเรารู้ว่ามีความเสี่ยงแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ฝนตกหนักๆ อย่านอนหลับเพลิน ต้องคอยสังเกตสิ่งรอบข้าง และเป็นหมู่บ้านต้องร่วมมือกัน จัดเวรยาม เพราะไม่มีทางที่คนส่วนกลางจะมาอยู่กับเราได้ตลอดเวลา สุดท้ายต้องพึ่งพาตนเอง ต้องมีการจัดเวรยาม และก็ต้องมีการจัดระบบว่า เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พวกเราจะไปอยู่ตรงไหนกัน จะขึ้นที่สูงตรงไหนที่จะทำให้ปลอดภัยจากแนวที่ดินโคลนถล่มจะตกลงมา

ขอขอบคุณที่มาข่าว: http://www.engineeringtoday.net

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้