แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ เปิดตัว SOLIDWORKS 2019 จับมือ depa ติดตั้งแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE

Last updated: 30 ก.ย. 2561  |  1065 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ เปิดตัว SOLIDWORKS 2019 จับมือ depa ติดตั้งแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE

กรุงเทพฯ - แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ (Dassault Systèmes) เปิดตัว SOLIDWORKS 2019 ชุดผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบสามมิติและแอพพลิเคชันทางด้านวิศวกรรมใหม่ล่าสุด ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและฟังก์ชั่นการใช้งาน ช่วยให้ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมหลายล้านคนสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการการผลิตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างประสบการณ์รูปแบบต่างๆ ตามประเภทของลูกค้าในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industry Renaissance)



แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ เปิดตัว SOLIDWORKS 2019 สร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมทั้งงานออกแบบและงานวิศวกรรม

SOLIDWORKS 2019 ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE จากแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ รองรับได้ตั้งแต่กระบวนการออกแบบไปจนถึงกระบวนการการผลิตครบวงจร โดยใช้ความสามารถทางดิจิทัลแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน และช่วยให้การทำงานทางด้านวิศวกรรมมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น ความสามารถใหม่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทีมนักพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถบริหารจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งใช้ประโยชน์ในการออกแบบทางด้านดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ SOLIDWORKS 2019 มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่และกระบวนการที่ช่วยปรับปรุงการทำงานร่วมกันให้เป็นไปอย่างราบรื่น สร้างประสบการณ์ที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมทั้งงานด้านออกแบบและงานด้านวิศวกรรม

เชฟวี คก ผู้จัดการฝ่ายขายเขตเอเชีย-เหนือ และโซลูชั่นงานออกแบบระดับมืออาชีพ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตอนใต้ บริษัท แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS 2019 ได้รับการพัฒนาให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และเร็วขึ้นกว่า ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS 2018 ซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติใหม่ของ SOLIDWORKS 2019 คือ ทำให้การออกแบบมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยสามารถรับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว หรือเลือกปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เกิดจากการพัฒนาความสามารถของ Large Design Review ยิ่งไปกว่านั้น SOLIDWORKS 2019 ได้ปรับปรุงการขยายภาพจำลองด้วยฮาร์ดแวร์ที่แสดงผลกราฟฟิกระดับสูงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกให้ทีมงานสามารถสื่อสารกันนอกกลุ่มนักออกแบบ ด้วยการใช้อุปกรณ์สัมผัสในการสร้างชิ้นงานและการประกอบชิ้นงาน (Parts and Assemblies) จัดเก็บไว้ในโมเดล และสามารถแปลงข้อมูลออกมาเป็นไฟล์ PDF ได้

อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญ SOLIDWORKS Extended Reality (XR) แอพพลิเคชันใหม่ล่าสุดสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลงาน CAD ที่สร้างจาก SOLIDWORKS ซึ่งประกอบด้วยเรื่องของแสง กล้อง วัตถุ ดีคอล และการทำแอนิเมชั่นในโหมด Motion Study พร้อมสัมผัสประสบการณ์การจำลองภาพเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality) และ Web Viewers

ทั้งนี้มีการใช้ SOLIDWORKS 2019 เพื่อรองรับการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ประเภท 10-meter-class ในโครงการ Maunakea Spectroscopic Explorer ซึ่งเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ขั้นตอนการออกแบบ ทำให้เกิดชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตกล้องโทรทัศน์ที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนมากถึง 1 แสนชิ้น ซึ่ง SOLIDWORKS 2019 สามารถตอบโจทย์ได้

แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ จับมือ depa นำแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE หนุน Digital Thailand

เชฟวี คก กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อติดตั้งแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ในโครงการสำคัญๆ ที่ช่วยผลักดันกลยุทธ์ Digital Thailand ภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ซึ่งครอบคลุม 2 ด้านหลักๆ ได้แก่ การออกแบบระบบการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในประเทศไทยเพื่อบ่มเพาะบุคลากรสำหรับอนาคต และการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ในประเทศไทย ภายในงาน “Digital Thailand Big Bang 2018” ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 23 กันยายน 2561 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ จะมีการนำแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาโครงการฝึกอบรมดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ‘Virtual Shipyard’ ในออสเตรเลียใต้ และการดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ในเมืองต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ เมืองชัยปุระของอินเดีย และเมืองแรนส์ของฝรั่งเศส มาใช้ในโครงการ “ดิจิทัลไทยแลนด์” ที่สำคัญๆ ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกำหนดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

ในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 นี้ จะมีการจัดงาน APPLICAD’s SOLIDWORKS INNOVATION DAY 2019 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Connect Manufacturing Innovation พร้อมเปิดตัว SOLIDWORKS เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด 2019 ที่ผสานโซลูชั่นเพื่อต่อยอดการเพิ่มคุณภาพงานออกแบบ และยกระดับกระบวนการผลิต ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าไบเทค บางนา และในวันที่ 5 ตุลาคม 2561 มีการจัดงาน “SOLIDWORKS Innovation Day 2019” โดยทีมงาน “Metro SOLIDWORKS” บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต ภายในงานพบกับการเปิดตัวซอฟต์แวร์ “SOLIDWORKS 2019” เวอร์ชันล่าสุด ภายใต้แนวคิด “Proven Design to Manufacture Solution” พร้อมสาระความรู้มากมาย อาทิ การบรรยายเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ของ “SOLIDWORKS 2019” และทิศทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจโดยวิทยากรจากสถาบัน MIT การบอกเล่าประสบการณ์และความสำเร็จจากการใช้งานซอฟต์แวร์ “SOLIDWORKS”

สตาร์ทอัพไทยใช้ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS ออกแบบและผลิตเครื่องบินส่วนตัว

เจตนากร เป็งศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจฟอกซ์ แอร์คราฟท์ จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพไทย ซึ่งออกแบบและผลิตเครื่องบินขนาดเล็ก กล่าวว่า ตนเป็น Aircraft System Engineer ได้ออกแบบและผลิตเครื่องบินขนาด 2 ที่นั่ง โดยเครื่องบินลำแรก คือ รุ่น JFOX JX -200 RG SHORT THUNDER ได้พัฒนาให้เป็น High Performance Aircraft ที่บินได้เร็วขึ้น จากนั้นได้พัฒนาเป็นเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าเรียกว่า รุ่น JFOX JX -200E- RG SHORT THUNDER ELECTRIC โดยที่การออกแบบภายในใช้ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS ทั้งหมด

นอกจากเครื่องบินขนาด 2 ที่นั่งแล้ว บริษัทฯ ยังมีแผนผลิตเครื่องบินขนาด 4 ที่นั่ง เรียก SPICA สามารถปรับความดันในห้องนักบินได้ บินที่ระดับ 28,000 ฟุต ใช้ CAD และซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS ในการออกแบบ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการกัดขึ้นรูปชิ้นส่วนด้วยเครื่อง CNC Mechanic เจตนากร กล่าวถึงความคืบหน้าของเครื่องบินลำแรก ขนาด 2 ที่นั่งว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทำต้นแบบ ซึ่งใช้เวลา 20 เดือนถึงจะออกมาเป็นรูปร่าง ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS มีส่วนช่วยให้สามารถออกแบบและผลิตได้ภายใน 5 ปี เมื่อเครื่องบินต้นแบบแล้วเสร็จ จะทำการผลิตเครื่องบินขนาด 4 ที่นั่ง คาดว่าน่าจะใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิม

“จากการใช้ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS Visualize 2018 ใช้เวลาเรียนรู้หนึ่งวันจากเดิมที่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งาน ช่วยให้คุณภาพงานดีขึ้น” เจตนากร กล่าว

Design Clinic ช่วยวิเคราะห์วัสดุเครื่องบิน

รศ.ดร. ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า Design Clinic โดยภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็น Solution Provider ที่จะให้คำปรึกษา และสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ นอกจากนั้นยังส่งเสริมศักยภาพนิสิตให้เข้าใจและสามารถแก้ปัญหาเชิงอุตสาหกรรม

โดยในปี พ.ศ. 2556 ทางเจฟ็อกซ์ต้องการผลิตเครื่องบินขนาดเล็ก ได้มอบหมายให้ Design Clinic ตรวจสอบคุณสมบัติพลศาสตร์ทางอากาศของเครื่องบิน Control Surface เพื่อให้เครื่องบิน Take off และ Landing ได้ ตรวจสอบ Performance Flight Mechanics ในการก่อสร้างเครื่องบิน รวมทั้งตรวจเช็คขนาดเครื่องยนต์ และน้ำหนักเครื่องบิน ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ เพื่อให้เครื่องบินมีขนาดเล็กลงขึ้นเรื่อยๆ



Digital Fabrication ช่วยให้ราคาชิ้นงานถูกลง

รศ.ดร. รัชทิน จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Industry 4.0 คือ การมุ่งสู่ Digital Industrial Revolution ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า ดังนั้นการออกแบบดิจิทัลจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็น Global แต่การผลิตจะเป็น Local โดยใช้วัตถุดิบ ที่มีในประเทศนั้น โดยกระจายการผลิตเป็น E-Centralizaton ไปยังผู้ผลิตรายย่อยโดยตรง ทำให้ราคาสินค้าถูกลงทุกวัน ปัจจุบัน Industry 4.0 เกิดขึ้นแล้ว และมีมูลค่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ CAD จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งจะเปลี่ยน Work Flow ให้การผลิตง่ายขึ้น เดิมที CAD เป็นเพียงแค่ Upstream ไม่มี Downstream คือ ผลิตไม่ได้อยู่ในคอมพิวเตอร์ การมี 3D Printer ทำให้ Chain CAD สามารถผลิตได้ และพัฒนาเป็น Digital Fabrication ที่ดูแลการผลิตทั้งหมด โดยส่งไฟล์เข้าคอมพิวเตอร์ สามารถเลือกวัตถุดิบ ระบบจะคำนวณราคาออกมาให้ทราบต้นทุนก่อนส่งผลิต ทำให้นับวันราคาชิ้นงานถูกลงCAD จึงนับเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง สามารถสร้างผลิตภัณฑ์แบบ Cutting Edge ได้

ชูผลงานนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0

รศ.ดร.รัชทิน ยังได้ยกตัวอย่างผลงาน LEX : Bionic Chair ของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 คน ซึ่งเรียนต่างชั้นปีกัน มีการแชร์ Passion ใช้ Feature CAD Generative Design ในการออกแบบ แล้วเก็บข้อมูลทุกอย่างบน Cloud รวมทั้งใช้ 2D Drawing และ 3D Printer จำนวนมาก ในการทำงานจริงพบปัญหา Tolerance ค่อนข้างมาก ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ผลงานจึงสำเร็จ

อีกหนึ่งผลงาน คือ LUMIO 3D เครื่องสแกน 4 มิติฝีมือคนไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 3 สุดยอด Tech Startup คนไทย โดยพัฒนาเครื่องให้มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน รวมทั้งงานไฟฟ้าและงานเดินสายไฟฟ้า และผลงาน Zeroztek เป็น Board Controller หุ่นยนต์ พัฒนาโดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงคนเดียวที่ทำงาน Co-working Space รอบ ๆ มหาวิทยาลัย แล้วส่งไปผลิตที่ประเทศสิงคโปร์

จะเห็นได้ว่านิสิต จุฬาฯ เริ่มปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0 สำหรับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน มีหลักสูตรให้นิสิตปี 2,3 และ4 เน้นทำ Project มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ชิ้นงานซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ให้ Rework การทำ Project เพียงแค่ครั้งเดียว พร้อมจัดหาเครื่องมือที่มีคุณภาพดีขึ้น มีการทำ Design-Build-Test และ CDIO Project เพื่อไปทดสอบกับผู้ใช้งาน (User) จริงโดยมี CAD ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลางและใหญ่ อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

วิศวฯ จุฬา คลอด 2 หลักสูตร รองรับ Deep Tech

รศ.ดร.รัชทิน กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เตรียมบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่รองรับ Industry4.0 โดยมีหลักสูตรใหม่ๆ คือ หลักสูตร Cyber System ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการสอนโดยสิ้นเชิง คือ ไม่มีการเรียนในชั้นเรียน เน้นทำงานในภาคอุตสาหกรรม Project ที่ทำคือ โจทย์ในอนาคต ใช้เครื่องมือจริง นิสิตจบไปสามารถทำงานใน Deep Technology เทคโนโลยีขั้นสูงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกได้ เช่น EdTech AgriTech BioTech เป็นต้น และหลักสูตร Robotics & AI Engineering ซึ่งเปิดรับนิสิตระดับปริญญาตรีรุ่นแรกจำนวน 20 คนแล้ว และจะเริ่มรับสมัครนิสิตในปีหน้า เน้นการทำ Project เป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์เทรนด์หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาเปลี่ยนโลกในอนาคต

ขอขอบคุณที่มาของข่าว: http://www.engineeringtoday.net

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้