สภาวิศวกร จัด เสวนา “มาตรฐานความปลอดภัยสากลกับอาคารสนามบิน” แนะรัฐทบทวนการก่อสร้าง Terminal 2 สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ

Last updated: 9 ต.ค. 2561  |  1151 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สภาวิศวกร จัด เสวนา “มาตรฐานความปลอดภัยสากลกับอาคารสนามบิน” แนะรัฐทบทวนการก่อสร้าง Terminal 2 สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ

ตามที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2 (Terminal 2) ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ณ บริเวณทิศตะวันออกติดกับอาคารผู้โดยสารเดิม ซึ่งแตกต่างจากไปจากแผนแม่บท (Master Plan) ที่ได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ด้วยความห่วงใยในการออกแบบการก่อสร้างและความปลอดภัยของโครงการดังกล่าว สภาวิศวกรพร้อมด้วยสภาสถาปนิกจึงได้จัดเสวนา “มาตรฐานความปลอดภัยสากลกับอาคารสนามบิน” เพื่อเป็นแนวทางออกแบบอาคารโครงสร้างอาคารใหญ่พิเศษให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ชี้การออกแบบและความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารสนามบิน
สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ

ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในเรื่องการออกแบบและความปลอดภัยสำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาในอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2 (Terminal 2) ในอนาคต อีกทั้งมีความห่วงใยในความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ในเรื่องการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและเงินภาษีของประชาชนที่นำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวด้วย

การออกแบบอาคารโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ 
ต้องปฏิบัติตามหลักการควบคุมอัคคีภัย

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า การใช้โครงสร้างอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2นั้น โครงสร้างจะต้องสามารถทนไฟได้ เพราะเคยมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้โครงสร้างอาคารถล่มลงมาทับคนที่อยู่ในอาคาร และคนที่เข้าไปช่วยเหลือเสียชีวิต ซึ่งการใช้โครงสร้างอาคารนั้นควรใช้เป็นคอนกรีต เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในการทนไฟ แต่ถ้าถึงในจุด ๆ หนึ่งก็สามารถพังได้หากเกิดความร้อนเกิน 200 องศาเซลเซียส จึงควรมีการปฏิบัติตามหลักการควบคุมอัคคีภัยใน 2 ส่วน คือ การควบคุมเชิงรุกและการควบคุมเชิงรับ การควบคุมเชิงรุก คือ การกระทำโดยมนุษย์ เช่น การส่งคนเข้าไปดับไฟ หรือดับไฟโดยใช้ระบบฉีดน้ำอัตโนมัติ ส่วน การควบคุมเชิงรับ คือ การป้องกันทางอ้อมที่ไม่อาศัยมนุษย์หรือระบบอัตโนมัติ เช่น การเลือกวัสดุที่ติดไฟยาก หรือการจัดผังอาคารที่ไม่ให้เกิดการลุกลามไปอาคารอื่น สำหรับหลักการควบคุมอัคคีภัยนั้นต้องประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1. การแจ้งเตือน อาคารควรจะต้องมีสัญญาณที่แจ้งเตือนในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ 2. ต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟได้ เช่น ระบบการพ่นน้ำแบบอัตโนมัติ 3.โครงสร้างอาคารต้องสามารถทนไฟได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาคารยิ่งใหญ่ยิ่งทนไฟได้ดี และ 4.จะต้องมีช่องทางการหนีไฟในอาคาร



เผย Terminal 2 ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ
แนะเข้มงวดเรื่องการทนไฟ -อายุการใช้งาน

สำหรับการออกแบบโครงการอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2 (Terminal 2) ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิที่ชนะการประมูลนั้นแม้ในขณะนี้เป็นเพียงรูปแบบความคิดการออกแบบในการใช้ไม้ แต่ข้อห่วงใยของหลายฝ่ายทั้งสภาวิศวกร สภาสถาปนิก ในเรื่องการใช้ไม้เป็นส่วนประกอบในการนำมาตกแต่งดีไซน์เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น

“สภาวิศวกรจึงอยากแนะนำว่าวัสดุไม้ดังกล่าวที่นำมาใช้ควรมีการตรวจสอบว่า สามารถผ่านมาตรฐานการทนไฟจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อายุการใช้งานของไม้ที่นำมาใช้เฉลี่ยมากน้อยเพียงใด ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงไหมเมื่อเทียบกับการใช้วัสดุอื่น เช่นคอนกรีต ความปลอดภัยในรายละเอียดการออกแบบ ในการดำเนินการก่อสร้างและกระบวนการเกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งรายละเอียดฟังก์ชันการใช้งานควรมีการใช้วิศวกรรมควบคุมที่เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมดำเนินการตรวจสอบ ดำเนินการดูในรายละเอียดของแบบการก่อสร้าง เรื่องอัคคีภัย พายุ การก่อวินาศกรรม อุทกภัย รวมทั้งควรดูข้อกฎหมายที่กำกับดูแลในการก่อสร้าง กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดประกอบในการออกแบบก่อสร้างรอบด้าน และบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญของทีมที่ได้รับคัดเลือกมีการผ่านงานก่อสร้างระดับชาติอะไรมาบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจในการก่อสร้างถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแบบร่างในการดำเนินการก็ตาม เนื่องจากอาคารสนามบินเป็นอาคารสาธารณะ เป็นอาคารชุมชน รวมทั้งเป็นอาคารพิเศษที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป เป็นหน้าต่าของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรระดับสากลเข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ สภาวิศวกรยินดีเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในกระบวนการก่อสร้างหากทางคณะผู้ที่ได้รับคัดเลือกร้องขอเข้ามา

แนะใช้ข้อมูลวิศวกรรม -สถาปัตยกรรม 
ในการออกแบบ-ก่อสร้างอาคารสนามบิน

ดร.มาโนช นาคสาทา ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัย สวทช. กล่าวว่า มาตรฐานความปลอดภัยในอาคารสนามบินที่ทุกประเทศคำนึงเป็นอันดับแรกคือ เรื่องความปลอดภัยทุกรูปแบบที่แต่ละประเทศที่มีการก่อสร้างสนามบิน มีสนามบินใช้งาน ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมในวัสดุที่นำมาใช้สำหรับก่อสร้างสนามบิน เช่น นำผลการศึกษาวิจัย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ออกแบบทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และระบบต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง เพื่อสนองตอบการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้มุ่งเพียงภาพความสวยงามเท่านั้น อีกทั้งวัสดุที่ใช้ต้องมีคุณสมบัติที่ดี มีคุณภาพ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เวลาเกิดเหตุอัคคีภัยภายในสนามบินขึ้น ภาพที่ออกมาค่อนข้างที่จะรุนแรง หากวัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างในสนามบินไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย อีกทั้งระบบต่าง ๆ ที่ป้องกันอัคคีภัยควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งความรู้ของบุคลากรที่อยู่ในพื้นที่ของสนามบินควรมีความรู้เรื่องความปลอดภัย รู้เส้นทางการเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังเส้นทางที่ปลอดภัยภายในสนามบินหากเกิดเหตุต่าง ๆ ขึ้น” ดร.มาโนช กล่าว



ชี้อาคารสนามบินเฟสใหม่
ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยโดยเฉพาะอัคคีภัย

ร.ท. วโรดม สุจริตกุล ผู้แทนจาก สถาบันป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย (National Fire Protection Association: NFPA) กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างอาคารสนามบินเฟสใหม่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องอัคคีภัย เนื่องจากพื้นที่อาคารสนามบินเป็นอาคารพิเศษที่มีพื้นที่ใหญ่ มีคนเข้าไปใช้บริการมากควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมตรวจสอบในจุดพื้นที่ต่าง ๆ ว่ามีระบบป้องกันอัคคีภัยครบถ้วนตามข้อกฎหมาย ได้มาตรฐานและบำรุงรักษาทดสอบเป็นประจำ มีระบบดับเพลิงที่มีตามมาตรฐาน ทั้ง Sprinkler System และ Hose System ให้สามารถใช้งานได้ในภาวะฉุกเฉินพร้อมใช้งานขณะเกิดเหตุ รวมทั้งตรวจสอบวัสดุที่จะนำมาก่อสร้างเพื่อป้องกันอัคคีภัยที่จะเกิดขึ้นสร้างความความอุ่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความพึงพอใจจากประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอาคารท่าอากาศยานเฟสใหม่ที่กำลังก่อสร้างนี้

แนะทอท.ชี้แจงรายละเอียดการก่อสร้างอาคารสนามบินใหม่
รองรับการเติบโตในอนาคต

เกชา ธีระโกเมน ผู้แทนจาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ทุกคนต้องการเห็นการก่อสร้างอาคารสนามบินเฟสใหม่มีความปลอดภัย มีความสวยงาม เป็น Smart Design ที่รองรับความต้องการและการเติบโตในอนาคตได้ด้วย เนื่องจากอาคารเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกกว่า 50-100 ปี แต่เมื่อมีเสียงท้วงติงจากหลาย ๆ ฝ่าย จึงอยากให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกรับฟังและร่วมกันนำข้อเสนอแนะนี้ไปปรับใช้

“โดยเฉพาะเรื่องวัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างอย่างไม้นั้น อยากให้ชี้แจงรายชื่อไม้ที่จะนำมาใช้ก่อสร้างเป็นไม้ชนิดใดและนำมาจากที่ใด นำเทคโนโลยีใดเข้ามาใช้ในการก่อสร้างบริหาร พื้นที่พักผู้โดยสาร พื้นที่การสัญจรทางอากาศขึ้น-ลงของเครื่องบิน พื้นที่รถเข้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสารในสนามบิน และพื้นที่เส้นทางคมนาคม ควรมีแผนรองรับจัดการพื้นที่ไม่ให้เกิดปัญหาพื้นที่รองรับไม่เพียงพอกับการใช้งานของคนไทยและนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิม เมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มในอนาคต” เกชา กล่าว

ท้วงงานก่อสร้างอาคารใหญ่ระดับชาติ ไม่ควรทำกันเองไม่กี่หน่วยงาน

เจตกำจร พรหมโยธี อดีตนายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า การออกแบบควรปฏิบัติตามแผนแม่บทที่วางเอาไว้ทั้งระยะก่อนก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้างหรือเปิดบริการแล้ว ไม่ใช่ออกแบบไปสร้างไปแล้วค่อยแก้เพราะจะสิ้นเปลืองงบประมาณในการดำเนินการจากภาษีประชาชนไปโดยไม่รู้จบ ถ้าแก้ควรแก้ให้เสร็จสิ้นก่อนลงมือก่อสร้างและควรให้ทุก ๆ ฝ่ายทั้งวิศวกร สภาสถาปนิก ท่าอากาศยานไทย หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่กระทำการปรับแก้เพียงไม่กี่หน่วยงาน อีกทั้งการปรับแก้ไขควรคำนึงถึงความปลอดภัยตามหลักกฎหมายสากลและสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้งานในอนาคต

สภาวิศวกรชี้ Terminal 2 ไม่อยู่ใน Master Plan
แนะรัฐบาลทบทวน- สร้างความเชื่อมั่นให้คนไทย-นานาชาติ

อย่างไรก็ตาม การที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้เร่งรัดที่จะทำโครงการอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2 (Terminal 2) ณ บริเวณทิศตะวันออกติดกับอาคารผู้โดยสารเดิมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งแตกต่างไปจากผังแม่บท (Master Plan) ที่ได้ออกแบบไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และทุกโครงการก่อสร้างย่อยในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ได้ใช้ Master Plan ในการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ในการนี้ สภาวิศวกรจึงมีความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. Master Plan คือ ผังแม่บท หรือยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สู่ความเป็นเลิศในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ในการพัฒนาแบ่งเป็นระยะเวลาเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร การดำเนินการใด ๆ ในการที่จะเปลี่ยนแปลง Master Plan ก็สามารถที่จะกระทำได้ หากมีเหตุผลและมีความจำเป็นประกอบการพิจารณา โดยมีเป้าหมายว่าการเปลี่ยนแปลง Master Plan อันใหม่จะต้องดีกว่าเดิม มิใช่ว่าทำการเปลี่ยน Master Plan เพราะของเดิมเก่าไปแล้ว 

2. อาคารผู้โดยสาร Terminal 2 ของ ทอท.ที่นำเสนอนี้ มิได้ปรากฎอยู่ใน Master Plan ตั้งแต่แรกแต่อย่างใด หากจะดำเนินการออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร Terminal 2 แล้ว อาจจะสร้างปัญหาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติโดยรวมได้ เนื่องจากการจัดการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีมากกว่า 20 ระบบ ผลกระทบที่มีต่อการจัดการดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้เกิดการลดระดับในการให้บริการ ลดความน่าเชื่อถือในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศยานในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลทางลบแก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สภาวิศวกรจึงใคร่ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. ขอให้ ทอท.ทบทวนแผนงานการดำเนินการประกวดแบบอาคารผู้โดยสาร Terminal 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้มีการพิจารณาความเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน ทั้งพื้นที่การใช้งาน การจราจรทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. ขอให้ ทอท.ปฏิบัติการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตาม Master Plan ปี พ.ศ. 2533 ที่ไม่ใช่การพัฒนาตาม Master Plan อันใหม่ที่จัดทำโดย ทอท.ปี พ.ศ. 2557

สภาวิศวกรเห็นว่า หาก ทอท.ได้พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามหลักวิชาการ โดยการพัฒนาขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารตาม Master Plan จะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นแก่คนไทยและนานาชาติ และส่งผลดีในทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา สภาสถาปนิกนำโดยพลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก ชาญณรงค์ แก่นทอง อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สอง พลอากาศตรีหม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก ได้เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ในการขอให้ตรวจสอบข้อมูลและทบทวนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเด็นผังแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนนายกรัฐมนตรีจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร ต้องจับตามองอย่ากระพริบ เพราะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นของคนไทยทุกคน

ที่มาของข่าว: http://www.engineeringtoday.net

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้